rbs.rsu.ac.th

E-Commerce-1

E-Commerce ย่อมาจากคำว่า Electronic Commerce แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือการทำธุรกิจโดยซื้อขายสินค้าหรือโฆษณาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และสื่อกลางในการใช้งานที่มากที่สุดในปัจจุบัน คืออินเตอร์เน็ตนั่นเอง การทำธุรกิจแบบE-commerce สามารถเข้าถึงลูกค้าได้อย่างกว้างขวาง และทำให้ลดค่าใช้จ่ายต่างๆในการดำเนินธุรกิจได้เป็นอย่างดี ผู้บริหารหลายๆคนจึงนิยมใช้E-Commerce แบบเต็มรูปแบบ ซึ่งการทำธุรกิจต้องประกอบด้วยอย่างน้อย 2 ฝ่ายคือผู้ซื้อและผู้ขาย คณะบริหารธุรกิจจึงจะมาอธิบายว่ารูปแบบการทำธุรกิจของ E-Commerce มีอะไรบ้าง

E-Commerce มีรูปแบบใดบ้าง #บริหารธุรกิจ

E-Commerce-2

ธุรกิจกับธุรกิจ (Business to Business: B2B)

            เป็นการทำธุรกิจระหว่างธุรกิจด้วยกัน หรือก็คือการค้าระหว่างผู้ค้ากับลูกค้า แต่ในที่นี้ลูกค้าจะเป็นในรูปแบบของผู้ประกอบการ ลูกค้าจะซื้อสินค้าและบริการของเรา เพื่อนำไปผลิตต่อด้วยการเพิ่มคุณค่าให้เป็นสินค้าและบริการอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่นำไปอุปโภคหรือบริโภคเอง ครอบคลุมถึงการขายส่ง การทำการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ที่ต้องการซื้อสินค้า/ บริการ ซึ่งจะมีความซับซ้อนในระดับต่างๆกันไป

            กุญแจสำคัญในการตลาด B2B คือการแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของธุรกิจ หากผู้บริหารสามารถปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ดีขึ้น มุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพที่ลูกค้าจะได้รับ

E-Commerce-3

ธุรกิจกับผู้บริโภค (Business to Consumer: B2C)

            เป็นการค้าระหว่างผู้ค้าโดยตรงถึงลูกค้าหรือผู้บริโภคโดยตรง ธุรกิจประเภทนี้จะเห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน เพราะเน้นการทำโฆษณา กิจกรรมทางการตลาดอยู่สม่ำเสมอ โดยบริษัทที่ขายด้วยวิธีนี้จะตัดตัวกลาง ไม่ว่าเป็นผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่าย พ่อค้าส่ง และพ่อค้าปลีกออกหมด เพื่อต้องการทำกำไรได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็สามารถขายสินค้าได้ถูกลง เนื่องจากไม่ต้องแบ่งกำไรให้พ่อค้าคนกลาง โดยการสั่งซื้อสินค้าจะทำผ่านระบบตะกร้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

ถ้าผู้บริหารเลือกการขายแบบ B2C ต้องรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะกลับมาซื้อซ้ำ และต้องกระตุ้นการตอบสนองทางอารมณ์ของลูกค้าให้ได้ ซึ่งแตกต่างจาก B2B ที่มีแคมเปญการตลาดเพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของผลิตภัณฑ์

ธุรกิจกับภาครัฐ (Business to Government: B2G)

            คือการประกอบธุรกิจระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ เป็นธุรกิจการบริหารการค้าของประเทศเพื่อเน้นการบริหารการจัดการที่ดีของรัฐบาล ซึ่งข้อแตกต่างที่สำคัญเมื่อเทียบกับ B2B และ B2C คือ ในรูปแบบ B2G โดยทั่วไปบริษัทจะเสนอราคาแบบมีโครงสร้างตามรายละเอียดที่ภาครัฐต้องการ มีการเปรียบเทียบราคา มีการทำสัญญาที่มีระยะเวลาที่ชัดเจน หากผิดสัญญาหรือไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ตรงตามเวลา จำเป็นต้องมีบทลงโทษ เนื่องจากจะมีผลต่อการส่งมอบงานตามแผนงานของรัฐบาล และกระทบต่อการเบิกงบประมาณ และบริษัทที่จะทำธุรกิจในลักษณะนี้ จำเป็นต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกำหนดของภาครัฐ เช่น ประสบการณ์กี่ปีขึ้นไป การมีผลงานอ้างอิง เป็นต้น

ผู้บริโภคกับผู้บริโภค (Consumer to Consumer: C2C)

            คือธุรกิจระหว่างผู้บริโภคกับผู้บริโภค เป็นรูปแบบธุรกิจที่ลูกค้าสามารถแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกัน มีหลายรูปแบบและวัตถุประสงค์ ผ่านระบบออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆมีหลายรูปแบบและวัตถุประสงค์ เช่นเพื่อการติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ในกลุ่มคนที่มีการบริโภคเหมือนกัน หรืออาจจะทำการแลกเปลี่ยนสินค้ากันเอง ขายของมือสอง เป็นต้น ซึ่งมีแบรนด์ต่างๆเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในรูปแบบอีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์ม เช่น Ebay, Shoppee, Lazada

            นอกเหนือจากผู้สร้างระบบขึ้นมาแล้ว การที่เราทำสินค้ามาขายผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ก็นับเป็นรูปแบบหนึ่งของ C2C ด้วยเช่นกัน เช่นการขายสินค้าผ่าน Facebook, Pantip, Instagram และเว็บอื่นๆอีกมากมาย

ภาครัฐกับประชาชน (Government to Consumer: G2C)

            คือ การให้บริการจากภาครัฐผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ในเรื่องวัตถุประสงค์เพื่อการค้า แต่จะเป็นเรื่องการบริการของภาครัฐผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยเองก็มีให้บริการแล้วหลายหน่วยงาน เช่น การคำนวณและเสียภาษีผ่านทางเว็บไซต์ออนไลน์ การดามโหลดแบบฟอร์มเพื่อลงทะเบียนต่างๆผ่านทางเว็บไซต์ ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบว่าต้องใช้หลักฐานอะไรบ้างในการทำเรื่องนั้นๆ และสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มบางอย่างจากบนเว็บไซต์ได้ด้วย

            ในปัจจุบันยังมีอีกหลายประเภทธุรกิจ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย แต่หลักๆที่เราจะเจอกันบ่อยๆก็จะมีตามที่ได้อธิบายไปข้างต้น หวังว่าทุกคนที่ได้อ่านจะมองออกแล้วว่าธุรกิจของคุณอยู่ในประเภทไหน และมันมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

#บริหารรังสิต #RBSRSU #Dek65 #มอรังสิต #บริหารธุรกิจ