rbs.rsu.ac.th

อยากทำ ธุรกิจแฟรนไชส์ ควรระวังสิ่งนี้#บริหารธุรกิจ

ธุรกิจแฟรนไชส์

         ธุรกิจแฟรนไชส์ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยม ซึ่งแบรนด์ดังๆหลากหลายแบรนด์ต่างมีแฟรนไชส์กระจายอยู่ในทุกภูมิภาค และเหมาะสำหรับคนที่อยากมีธุรกิจแต่ไม่มีเวลา หรือมีเงินลงทุนไม่มากพอ วันนี้คณะบริหารธุรกิจจึงจะมาแนะนำสิ่งที่ควรระวังเมื่อเริ่มทำธุรกิจแฟรนไชส์

วิเคราะห์โอกาสทางธุรกิจ

1.วิเคราะห์โอกาสทางธุรกิจ

     วิเคราะห์ว่าคุ้มค่าหรือไม่ ก่อนตัดสินใจลงทุน เพื่อไม่ให้คัดเลือกแฟรนไชส์ผิด เพราะการซื้อแฟรนไชส์ คือการลงทุนซื้อแบรนด์ของคนอื่นมาทำ ดังนั้นจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยในการลงทุนหลายตัว ไม่ว่าจะเป็น ชื่อเสียงของแบรนด์ ความง่ายยากซับซ้อนของการปฏิบัติงาน ระบบสนับสนุนจากเจ้าของแฟรนไชส์ ต้องคิดไปถึงทำเลที่จะทำร้านว่าเหมาะกับร้านอาหารที่จะลงทุนหรือไม่ ค่าลิขสิทธิ์ค่าใช้จ่ายต่อเดือนเหมาะสมกับสิ่งที่ได้รับรึเปล่า และจะใช้เวลาคืนทุนนานเท่าไหร่ ซึ่งทั้งหมดนี้เราเรียกกันว่า “การวิเคราะห์โอกาสทางธุรกิจ” เพื่อจะหาคำตอบว่า การลงทุนครั้งนี้คุ้มค่าหรือไม่  แฟรนไชส์ที่ดีจะช่วยเราคิดเรื่องนี้ เพราะถือว่าเราเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจที่พร้อมจะเติบโตขยายสาขาไปด้วยกัน

ควรระวังคู่มือปฏิบัติงานและสัญญา ธุรกิจแฟรนไชส์
ควรระวังคู่มือปฏิบัติงานและสัญญาแฟรนไชส์

2.ควรระวังคู่มือปฏิบัติงานและสัญญาแฟรนไชส์

     ให้มองว่าแฟรนไชส์ คือการขยายสาขาของแบรนด์ โดยที่เราเป็นคนบริหารสาขา ดังนั้นแต่ละสาขาต้องมีมาตรฐานเดียวกัน ปกติแฟรนไชส์จะมีคู่มือปฏิบัติงานที่จะบอกรายละเอียดทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติงานในส่วนต่างๆของร้าน สูตรอาหาร ฯลฯ โดยผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์จะต้องทำความเข้าใจและปฏิบัติตามให้ถูกต้อง

     ถ้าคู่มือเข้าใจยาก ไม่มีการอบรมก่อนเริ่มธุรกิจ ก็ยากจะรักษาคุณภาพได้ตามที่แบรนด์กำหนด  รวมถึงสัญญาแฟรนไชส์ที่ไม่ชัดเจน ไม่ได้ระบุชัดว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ จะทำให้การปฏิบัติงานยากขึ้น ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้เมื่อเกิดข้อสงสัย ดังนั้นถ้าตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์ต้องศึกษาคู่มือและสัญญาให้ละเอียดก่อน

ทำเลไม่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

3.ทำเลไม่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

     แบรนด์มีชื่อเสียงแค่ไหน ถ้าทำเลไม่ดีก็ขายยาก  ทำเลเป็นสิ่งสำคัญ ปกติเจ้าของแฟรนไชส์จะช่วยเราวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการขายตามทำเลที่เราตั้งใจจะเปิด ว่ามีโอกาสในการขายได้มากน้อยขนาดไหน อย่างไรก็ตามเราเองต้องสามารถวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ให้ได้ด้วยเช่นกัน

ไม่เก็บค่า Royalty ต้นทุนต่ำแต่ความเสี่ยงก็สูง

4.ไม่เก็บค่า Royalty ต้นทุนต่ำแต่ความเสี่ยงก็สูง

     Royalty fee คือค่าตอบแทนที่เจ้าของแฟรนไชส์เรียกเก็บอย่างต่อเนื่องจากผู้ซื้อแฟรนไชส์ โดยคิดจากยอดขาย โดยทั่วไปมักจะเรียกเก็บเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดขายแต่ละเดือน ซึ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งของผู้ซื้อแฟรนไชส์

ค่า Royalty fee นี้ถือเป็นรายได้ของเจ้าของแฟรนไชส์ ซึ่งโดยทั่วไปจะนำไปสนับสนุนแบรนด์และสาขาต่างๆอีกทีหนึ่ง เจ้าของแฟรนไชส์หลายเจ้าไม่เก็บค่า Royalty fee เพื่อทำให้คนซื้อรู้สึกว่าต้นทุนต่ำลง และดึงดูดให้คนมาซื้อแฟรนไชส์มากขึ้น แต่ต้องไม่ลืมว่าเมื่อเจ้าของแฟรนไชส์ไม่มีรายได้ต่อเดือนในการเอาไปบริหารการตลาดของแบรนด์แล้ว ภาระความเสี่ยงทั้งหมดจึงตกอยู่ที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์เท่านั้น โดยเฉพาะแฟรนไชส์บางเจ้าที่จ่ายค่าแรกเข้าครั้งเดียวแล้วจบ ซึ่งหลังจากนั้นจะไม่ค่อยมีการซัพพอร์ตจากแบรนด์เท่าไหร่ เพราะถือว่าขายขาดไปแล้ว

ขาดความพร้อม

5.ขาดความพร้อม

     ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ดี คือการเป็นหุ้นส่วนธุรกิจระหว่างเจ้าของและคนซื้อแฟรนไชส์ ต้องเข้าใจว่าเจ้าของแฟรนไชส์เองต้องผ่านการลองผิดลองถูก ทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จมาแล้วในระดับหนึ่ง จึงอยากต่อยอดธุรกิจตัวเอง ในขณะที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ก็อยากเข้ามาลงทุนในธุรกิจโดยยอมเอาเงินมาลงทุนเสี่ยงโดยไม่มีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจนั้นดีเท่าเจ้าของแฟรนไชส์ ดังนั้นเจ้าของแฟรนไชส์จะต้องเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจให้กับผู้ซื้อด้วย คอยสนับสนุนการทำงานของผู้ซื้อแฟรนไชส์ทุกด้าน โดยเฉพาะต้องช่วยวางแผนการตลาดในกับร้าน เพื่อกระตุ้นยอดขายและสร้างกำไรให้กับผู้ลงทุนซื้อแฟรนไชส์ ถ้าเจ้าของแฟรนไชส์ไม่มีระบบซัพพอร์ทที่ดี ไม่มีแผนการตลาดที่มองถึงความมั่นคงในอนาคตของผู้ร่วมลงทุน ก็ถือว่าไม่มีความพร้อมในการทำแฟรนไชส์

 

 

#บริหารรังสิต #RBSRSU #Dek66 #มอรังสิต #บริหารธุรกิจ