rbs.rsu.ac.th

คณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยรังสิตLogo
การสร้าง-Emotional Engagement-1

    วันนี้ คณะบริหารธุรกิจ จะมาพูดถึงหนึ่งตัวแปรที่ขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้ ตัวแปรนั้นก็คือ คน หรือก็คือ พนักงานภายในองค์กรนั่นเอง การที่องค์กรจะสามารถสร้างผลิตผลออกมาได้ จำเป็นต้องพึ่งคน หรือพนักงานภายในองค์กร และการที่ผลิตผลนั้นจะออกมามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้ ก็ขึ้นอยู่กับทักษะความรู้และอารมณ์ความรู้สึกของคนเหล่านั้นด้วย องค์กรจึงจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลจิตใจ สร้างสุขในการทำงาน และมอบทักษะความรู้ที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงาน เพื่อให้พนักงานมีความรู้สึกในเชิงบวก และสามารถสร้างผลิตผลที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลออกมาให้แก่องค์กรได้

    ในบทความนี้เราจะเริ่มจากการสร้าง Employee Engagement ด้วยการดูแลอารมณ์ ความรู้สึกของพนักงานภายในองค์กร ที่กำลังเป็นเทรนด์อยู่ในปัจจุบันนี้ ที่จะเน้นไปในการให้ความสำคัญกับการสร้างความผูกพันทางความรู้สึกกับพนักงานมากขึ้น โดยการดูแลพนักงานให้มีความสุขในการทำงาน และมี well-being ที่ดีจะเป็นแนวทางสำคัญในการทำ Employee Engagement ในอนาคต เพราะด้วยสภาวะปัจจุบันที่พนักงานต้องเผชิญกับปัญหาทั้งจากเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว จึงอาจส่งผลให้พนักงานหมดไฟและหมดแรงบันดาลใจ

Emotional Engagement คืออะไร? #บริหารธุรกิจ

 

 

    การสร้าง Employee Engagement ด้วยการดูแลความรู้สึกของพนักงานนั้น ก็เพื่อเป็นประโยชน์ต่อทั้งพนักงานและองค์กร โดยในมุมขององค์กรจะได้ทั้งประสิทธิภาพในการทำงาน ผลงาน และความคิดสร้างสรรค์ที่ดีขึ้นของพนักงาน ช่วยรักษาคนเก่งไว้กับองค์กร และสามารถลดจำนวนวันลาของพนักงานได้อีกด้วย ด้านพนักงานก็มีความสุขในการทำงาน มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

การสร้าง-Emotional Engagement-2

องค์กรจะเริ่มสร้าง Emotional Engagement ได้อย่างไร?

    การสร้าง หรือการทำให้พนักงานมีความรู้สึกที่ดีและผูกพันกับองค์กรนั้น พนักงานจะต้องรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร รู้สึกปลอดภัย และมีอิสระ กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นในการทำงาน  มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี ไม่ตึงเครียด จึงจะเกิดเป็นความสุขในการทำงาน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรล่ะ ว่าตอนนี้พนักงานของเรากำลังมีความสุขในการทำงานจริงหรือไม่ ?

    การเริ่มต้นสร้าง  จึงควรเริ่มจากการพูดคุย และรับฟังพนักงานเหล่านั้นให้บ่อยขึ้น  เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เราทราบได้ว่าตอนนี้พนักงานของเรารู้สึกหรือมีปัญหาอะไร ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถเข้าไปช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา ให้กำลังใจ และให้คำแนะนำได้อย่างตรงจุด ดังนั้น หัวหน้าและผู้บริหารจึงจำเป็นต้องนำเกณฑ์ความรู้สึกของพนักงานเข้ามาอยู่ในมาตรวัด ใส่ใจความรู้สึกของพนักงานให้มากขึ้น รวมถึงสร้างบรรยากาศที่ดีให้พนักงานกล้าที่จะเปิดใจพูดคุยกับเรา

ตัวอย่างไอเดียที่องค์กรสามารถนำมาปรับใช้เพื่อสร้างความผูกพันทางความรู้สึกกับพนักงาน

    • จัดกิจกรรมสร้างสุข และโปรแกรม well-being ในองค์กร

    • สร้าง Work-Life Balance ที่ดีให้แก่พนักงาน

    • มอบหมายให้การดูแลความรู้สึกของพนักงานเป็นหนึ่งในหน้าที่รับผิดชอบของหัวหน้าและผู้จัดการ

    • มอบหมายให้มีตัวแทนคอยดูแลเรื่องอารมณ์ของพนักงาน เช่น จัดให้มีตำแหน่ง Happiness Manager

    • มอบหมายงานหรือปรับรูปแบบการทำงานบางอย่างให้สอดคล้องกับความต้องการของพนักงาน

    • ประเมินและสอบถามความรู้สึกพนักงานเป็นประจำ

    • ให้พื้นที่ในออฟฟิศกับพนักงานเพื่อจัดกิจกรรมตามความชอบ

    • จัดกิจกรรมเพื่อการสังสรรค์และผ่อนคลายให้กับพนักงาน

    • ใช้วัฒนธรรมองค์กรหล่อหลอมอารมณ์ของพนักงานในองค์กร

    • ประเมินและฝึกอบรมทักษะในการบริหารจัดการอารมณ์ให้กับพนักงาน

 

การสร้าง-Emotional Engagement-3

“ความฉลาดทางด้านอารมณ์” กุญแจสำคัญในการสร้างสุขให้พนักงาน

จากตัวอย่างไอเดียในการสร้างความผูกพันทางความรู้สึกกับพนักงาน ข้างต้น จากบทความของ Adecco ได้เล็งเห็นว่าตัวแปรสำคัญที่จะช่วยสร้างสิ่งนี้ได้ดี คือการพัฒนาให้พนักงานมีความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เพราะปัญหาส่วนใหญ่จากการทำงานก็คงหนีไม่พ้นปัญหาเรื่องคน

    คน มักเป็นสาเหตุหลักของความเครียดในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้างาน หรือเพื่อนร่วมงานก็ตาม ดังนั้นหากองค์กรสามารถแก้ปัญหาส่วนนี้ได้ ก็จะเป็นการเสริมพลังเชิงบวกในการทำงานให้แก่กัน ทำให้พนักงานภายในองค์กรสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

    โดยอาจจะเริ่มจากการฝึกอบรมความฉลาดทางด้านอารมณ์ หรือ EQ ให้กับพนักงานทุกตำแหน่ง ทุกระดับ เพื่อเสริมให้พนักงานมีทักษะในการบริหารจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ดี สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่นไม่ว่าจะอยู่ในสถานะ หรือตำแหน่งใดก็ตาม การมี EQ ที่ดีจะช่วยให้พนักงานสามารถมีสภาวะทางอารมณ์ที่มั่นคงและไม่เครียดกับการทำงานมากจนเกินไป มีสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

    เพราะฉะนั้น ทางองค์กรจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือ HR หันมาให้ความสำคัญกับทักษะการบริหารจัดการอารมณ์มากขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยสร้างความผูกพันทางความรู้สึกกับพนักงาน แล้วยังเป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการทำงานในยุคนี้อีกด้วย

#บริหารรังสิต #RBSRSU #Dek65 #มอรังสิต #บริหารธุรกิจ